วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประวัติจังหวัดนราธิวาส

ประวัติจังหวัดนราธิวาส
        เมืองนราธิวาส เดิมมีฐานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่ง เรียกว่าอำเภอ"บางนรา"ขึ้นอยู่กับเมืองสายบุรี ซึ่งเป็นเมือง ๆ หนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมือง ต่อมาได้โอนไปขึ้นกับเมืองระแงะซึ่งเป็นหนึ่งในบริเวณ 7 หัวเมืองเช่นกัน ดังนั้นการที่จะทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมืองนราธิวาส จะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของเมืองปัตตานี เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ ซึ่งเป็นบริเวณหัวเมือง เป็นลำดับติดต่อกันไป ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกทัพหลวงลงมาปักษ์ใต้เพื่อปราบปรามข้าศึกที่จะยกมายังพระราชอาณาเขตทางใต้ เมื่อข้าศึกแตกพ่ายหนีไปหมดแล้ว จึงได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองสงขลาและได้มีรับสั่งออกไปถึงหัวเมืองมลายูทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นกับกรุงศรีอยุธยามาก่อนให้มาอ่อนน้อมเหมือนดังเดิม พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานูยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แต่พระยาปัตตานีตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อม จึงได้รับสั่งให้ยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานีเมื่อ พ.ศ.2332 เมื่อได้เมืองปัตตานีแล้ว ก็โปรดเกล้าให้พระราชทานตราตั้งให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นพระยาปัตตานีและให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลาต่อไปและตั้งให้เป็นเมืองมนตรีขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์โดยตรง ในระหว่างที่พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ว่าราชการเมืองปัตตานีอยู่นั้นบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขตลอดมา ครั้นต่อมาเมื่อพระยาปัตตานีถึงแก่กรรมลง โปรดเกล้าให้นายพ่ายน้องชายพระยาหลวงสวัสดิภักดีผู้ช่วยราชการเมืองปัตตานีและได้ย้ายที่ว่าการเมืองปัตตานีจากบ้านมะนา (อ่าวนาเกลือ) ไปตั้งที่บ้านยามู ในระหว่างนั้นพวกซาเห็ดรัตนาวงศ์ฯ และพวกโมเซฟได้เริ่มก่อกวนความสงบสุขของบ้านเมือง โดยคบคิดกันเข้าปล้นบ้านพระยาปัตตานีและบ้านหลวงสวัสดิภักดี แต่ก็ได้ถูกตีถอยหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ตำบลบ้านกะลาพอ เขตเมืองสายบุรีนอกจากนั้นเมืองปัตตานีมีอาณาเขตกว้างขวางและมีโจรร้ายปล้นบ้านเรือนราษฎรชุกชุมยิ่งขึ้น จนเหลือกำลังที่พระยาปัตตานีจะปราบให้สงบราบคาบได้ จึงแจ้งข้อราชการไปยังเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง)ออกมาปราบปรามและจัดวางนโยบายแบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง เมื่อ พ.ศ. 2353 แล้วทูลเกล้าถวายรายชื่อเมืองที่แยกออกไปดังนี้ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระยาปัตตานี(ตวนสุหลง) พระยาหนองจิก (ตวนกะจิ) พระยายะลา (ตวนบางกอก) พระยาระแงะ (หนิเดะ) เจ้าเมืองทั้ง 4 ได้สมคบร่วมคิดกันเป็นกบฏขึ้นในแผ่นดิน จึงโปรดเกล้าให้พระยาเพชรบุรีและพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ลงมาปราบ และพิจารณาเห็นว่าหนิบอสู ชาวบ้านบางปู ซึ่งพระยายะหริ่งแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองยะหริ่ง ได้เป็นกำลังสำคัญ และได้ทำการสู้รบด้วยความกล้าหาญยิ่ง ด้วยคุณงามความดีอันนี้ จึงได้แต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการเมืองระแงะ สืบต่อจากพระยาระแงะ (หนิเดะ) ที่หนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการจากบ้านระแงะมาตั้งใหม่ ณ ตำบลตันหยงมัส (ซึ่งเป็นอำเภอ ระแงะ ในปัจจุบัน) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ยกเลิกการปกครองแบบเก่า เพราะการแบ่งเขตแขวงการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการในหัวเมืองทั้ง 7 ยังก้าวก่ายกันอยู่หลายอย่าง จึงได้วางระเบียบแบบแผนการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นระเบียบตามควรแก่กาลสมัยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2444 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2449 มีประกาศพระบรมราชโองการให้แยกบริเวณ 7 หัวเมือง ออกมาจากมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า "มณฑลปัตตานี" เพื่อให้สะดวกแก่ราชการ และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนในปี พ.ศ. 2458 ได้ย้ายที่ว่าราชการจากเมืองระแงะ ตำบลตันหยงมัส มาตั้งที่บ้านมะนาลอ (บางมะนาวปัจจุบัน) อำเภอบางนรา ส่วนท้องที่เมืองระแงะ และยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา มีอำเภอในเขตปกครองคืออำเภอบางนรา อำเภอตันหยงมัส กิ่งอำเภอยะบะ อำเภอสุไหงปาดี กิ่งอำเภอโต๊ะโมะ ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองบางนรา ทรงพระราชทานพระแสงราชศัสตราแก่เมืองบางนรา และทรงดำริเห็นว่าบางนรานั้นเป็นชื่อตำบลบ้านและควรที่จะมีชื่อเมืองไว้เป็นหลักฐานสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองนราธิวาส" เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2458 (นร+อธิวาส แปลว่า ที่อยู่ของคนดี) ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่และให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด เมืองนราธิวาสจึงเปลี่ยนมาเป็น "จังหวัดนราธิวาส" ดังเช่นปัจจุบัน

 สัญลักษณ์จังหวัด

        รูปเรือใบเต็มกำลังแล่นกางใบ

 ต้นไม้ประจำจังหวัด
        คือ ตะเคียนชันตาแมว(Balanocarpus heimit King)เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดนราธิวาส พบมากบนภูเขาสูงในป่าเขตจังหวัดนราธิวาส เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อไม้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น ทำเสา รอด ตง ขื่อ ใช้ต่อเรือ ทำหมอนรองรางรถไฟ เครื่องแต่งบ้าน เสาเขื่อน เรือสำเภาเดินทะเล เสากระโดงเรือ ชันของไม้ชนิดนี้มีราคาสูง ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ และน้ำมันชักเงาอย่างดี

 ดอกไม้ประจำจังหวัด

        คือ ดอกบานบุรีเหลือง(Allsmsnda cathartica)ต้นเป็นพุ่มโคนต้นแข็งปลายกิ่งอ่อนโค้งดอกสีเหลืองสดออกช่อ

 คำขวัญจังหวัดนราธิวาส

ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา
นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ
แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น