วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559



อิสลามว่าอย่างไรเกี่ยวกับประเพณีของต่างศาสนาอื่น?
بسم الله الرحمن الرحيم
มุสลิม เล่นน้ำสงกรานต์ได้หรือไม่ ?
อ.อิสมาอีล กอเซ็ม
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ แต่เพียงพระองค์เดียว
อิสลาม คือ ศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า คือ อัลลอฮฺ ซุบหานาฮูวาตาอาลา และ เป็นศาสนาที่ปลูกฝังความเชื่อ แก่บรรดามุสลิม ให้ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้าองค์เดียว เมื่อมุสลิมมีหลักความเชื่อนั้น เขาก็พร้อมที่จะน้อมรับบทบัญญัติต่างๆ ที่มาจากอัลลอฮฺ
หลักการของอิสลามนั้น มีทั้งที่เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อ การคบค้าสมาคมกับผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างศาสนา และต่างความเชื่อ แต่ขณะเดียวกันอิสลามให้ความสำคัญ กับสิ่งที่จะมาทำลาย หรือสิ่งที่ค้านกับหลักความเชื่อของอิสลาม เมื่อใดก็ตามที่มุสลิมกระทำสิ่งที่ค้านกับความเชื่อและหลักการของอิสลาม จะไม่สามารถกระทำได้ เช่นการไปมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่างๆ ของศาสนาอื่น ซึ่งพิธีกรรมของศาสนานั้น ค้านกับคำสอนของอิสลาม หรือประเพณี ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อทางศาสนา
ดังนั้น ความแตกต่างของศาสนาอิสลามที่มีจุดเด่นเฉพาะ ไม่ใช่อุปสรรคในการดำเนินชีวิตร่วมกันกับผู้คนต่างวัฒนธรรม หรือต่างความเชื่อ หลายคนที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของอิสลามที่แท้จริง หรือผู้ที่มีอคติต่ออิสลามนั้น มักจะเข้าใจอิสลามในภาพลบ และมองว่าอิสลามคือตัวถ่วงความเจริญ หรือเป็นตัวสร้างปัญหา
ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะนำมาเสนอกับพี่น้องลูกหลานมุสลิมถึงการเล่นสงกรานต์ สำหรับมุสลิมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง คือ มุสลิมจะไปร่วมสนุกสนานกับการเล่นสงกรานต์ได้หรือไม่ ถ้าเรามองโดยผิวเผินแล้ว การเล่นน้ำสงกรานต์ไม่น่าจะเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะแค่เอาน้ำมารดหัวสาดใส่กัน ในช่วงหน้าร้อนมันช่วยดับร้อนได้อีกต่างหาก แต่เมื่อไปศึกษาความเป็นมาของพิธีสาดน้ำสงกรานต์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับ หลักความเชื่อของศาสนาอื่น ตามหลักความเชื่อของศาสนาอื่นนั้น อิสลามไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ หมายถึงมุสลิมไม่สามารถที่จะไปปฏิบัติ ในสิ่งที่เป็นหลักความเชื่อ อื่นจากหลักความเชื่อของอิสลาม
เมื่อเราไปศึกษาความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ เราจะพบว่า ความเป็นมานั้น เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อทางศาสนา (เข้าไปอ่านประวัติความเป็นมา ของประเพณสงกรานต์ ตามลิงค์ต่อไปนี้http://www.mahamodo.com/knowledge/water_festival.aspx) ซึ่งเป็นความเชื่อที่มาค้านกับความเชื่อของอัลอิสลาม
เมื่อมุสลิมได้รับทราบความเป็นมา ของประเพณีสงกรานต์ มีที่มาอย่างไร ก็สรุปได้ว่าที่มาของสงกรานต์ เกิดจากหลักความเชื่อของศาสนาอื่น จึงไม่อนุญาตให้มุสลิม เข้าไปมีส่วนร่วมในการเล่นน้ำสงกรานต์ เนื่องจากการเป็นมุสลิมจะต้องปฏิบัติ ตามหลักการที่เคร่งครัด และต้องละทิ้งสิ่งที่เข้ามาเจือปนในศาสนา มุสลิมต้องมีจุดยืนในศาสนาของตัวเองอย่างชัดเจน การผสมผสานระหว่างความเชื่อของอิสลาม และความเชื่ออื่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจมารวมไว้ด้วยกันได้
อัลลอฮฺ ซุบหานาฮูวาตาอาลา ตรัสว่า
(لكم دينكم ولي دين )
“สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน”
นี่คือพระบัญชาของอัลลอฮฺ ที่ได้กำชับให้มุสลิม แสดงถึงจุดยืนที่ชัดเจน สำหรับการยึดถือปฏิบัติศาสนา และให้ปลีกตัวจากการปฏิบัติ ตามหลักความเชื่อของศาสนาอื่น หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในวันสำคัญของศาสนาต่าง ๆ หรือประเพณีทางศาสนาอื่น ไม่ว่าจะเป็นการลอยกระทง สงกรานต์ หรือในทำนองดังกล่าว
قال النبي صلى الله عليه وسلم(( من تشبه بقوم فهو منهم ))
رواه أبوداود
ท่านนบีศอลลัลลอฮู อะลัยอิวะซัลลัมได้กล่าวว่า “ใครที่เลียนแบบกลุ่มชนหนึ่ง กลุ่มชนใด ดังนั้น เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนนั้น” (บันทึกโดย อาบูดาวุด)
เพราะถ้ามุสลิมได้เข้าไปมีส่วนร่วม ในพิธีกรรมของพวกเขา มันเป็นการบ่งบอกถึงการนิยมชมชอบ ต่อพวกเขา มุสลิมสามารถดำเนินชีวิต ร่วมกับบุคคลต่างศาสนาได้โดยปกติ ในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนา
ดังนั้น หลักการอิสลามไม่ใช่หลักการ ที่จะมาสร้างความแตกแยก ในหมู่ผู้คน อิสลามสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ โดยสันติสุข ความแตกต่างในศาสนา ไม่ได้หมายความเราไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม อิสลามมีหลักการโดยเฉพาะ แต่ขณะเดียวกันอิสลามเคารพในสิทธิของบุคคลอื่น อิสลามไม่มีคำสอน ให้ไปทำลาย หรือ ด่าทอศาสนา หรือพระเจ้าของศาสนาอื่น เพราะอิสลาม เป็นศาสนาที่ปลูกฝังหลักความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า และต้องปฏิบัติตามหลักการของศาสนา อย่างเคร่งครัด เพื่อเราจะรอดพ้นจากการลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบหานาฮูวาตาอาลา
ดังนั้น สงกรานต์ในปีนี้ หวังอย่างยิ่งว่า ลูกหลานมุสลิม คงเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ไปมีส่วนร่วมในการเล่นน้ำสงกรานต์ ตามความเชื่อของศาสนาอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น